ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ)




ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ)

             
1. ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสานด้านศิลปกรรม (หมอลำ)

                สำเร็จ คำโมง (ม.ป.ป) ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่าหมอลำว่า เป็นคำผสมคำว่า หมอกับ ลำและหมอเป็นคำที่ชาวไทยลาวใช้เรียกผู้ชำนาญการหรือผู้เชียวชาญในกิจหรือวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง หมอในพื้นถิ่นไทยลาวมีหลายประเภท เช่น

·         หมอลำ คือ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพขับร้องขับลำ
·         หมอแคน คือ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพเป่าแคน
·         หมอมอ คือ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพทำนายโชคชะตาราศี
·         หมอยา คือ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพการปรุงยารักษาโรค
·         หมอสูด คือ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพร่ายมนต์คาถาในพิธีกรรมต่าง ๆ
·         หมอเพลง คือ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพขับร้องเพลงและประพันธ์เพลงใช้ในพื้นที่ถิ่นโคราช ฯลฯ

                จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า หมอลำ คือ ผู้ที่มีความชำนาญในด้านการขับลำ (ร้องลำ) สามารถจำกลอนลำได้มากมายหลายร้อยกลอนจนถึงขั้นแตกลำหรือด้นกลอนสด (คิดกลอนขึ้นเองในขณะลำ)ได้ และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสานทั้งสิ้นที่สืบทอดมีมาตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงปัจจุบัน


  2. หมอลำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

                หมอลำได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยมี 3 ประเภทด้วยกันคือ หมอลำพื้น หมอลำกลอน และลำผญา (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, 2554) ผู้วิจัยขอยกตัวอย่างกลอนลำมาแค่เพียง 5 ประเภทเพื่อแสดงให้เห็นถึง  ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ) อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น คือ หมอลำทรง (หมอลำผีฟ้า) หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ (ลำเรื่องต่อกลอน) และลำผญา มีรายละเอียดดังนี้




                1.) หมอลำทรง หรือหมอลำผีฟ้า
                เป็นยุคที่มีหมอลำเพื่อการประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาโรคโดยเฉพาะ  เพราะคนสมัยก่อนมีความเชื่อว่าคนที่เจ็บป่วยไม่หายนั้น อาจจะเกิดจากการกระทำของผีตาแฮก ผีเมือง ผีป่า ผีปู่ตา ผีบ้าน ดังนั้น ต้องทำพิธีขอขมาผี ถ้ายังไม่หายอีกก็แสดงว่าอาจจะเป็นการกระทำของผีฟ้าซึ่งอยู่เหนือธรรมชาติ การรักษาจึงต้องมีการเข้าทรง เพื่ออันเชิญผีฟ้ามาทำให้หายจากอาการเจ็บป่วยในครั้งนั้น

                ตัวอย่างกลอนลำผีฟ้าที่ใช้เชิญเสด็จ ผญาแถน ต่อไปนี้

                “…สาธุถ่อนขอพรอนุญาต                                       ปาปอย่าได้เวรต้องอย่าให้มี
                ขอหลายให้อ้ายให้                                              เขยไฮ ให้อ้ายหย่อน
                ให้พ่อเขาทอดด้าม                                              วางให้แก่ขอ
                เชิญพ่อมาแต่หิ้งให้ยอมาแต่หอไม้แก้ว                       โฮงกว้างซ่วงสำบาย
                ขอเถิงแถนตื้อเฒ่า                                               แถนลือ ซ้ำแถนหล่อ
                ขอนำแถนท่อฟ้า                                                 แถนเฒ่าพ่อพญา
                ขอนำอ้ายจำปาซาย                                             ให้ฮีบด่วน
                ซวนอ้ายมาเลาะเลียบห้อง                                        คายแพงน้องตั้งแต่ง
                มีเทิงขันห้าพร้อม                                                   ขันแปดเทียมนำ
                มีเทิงซิ่น                                                             แพรวาน้องกะใส่
                ไข่หน่วยละเบื้อง                                                    ประสงค์ซื้อใส่คาย
                เงินคำได้                                                             พอประมาณสี่บาท
                น้องกะเฮ็ดให้ได้                                                    ใจอ้ายผู้ด่วนมา
                เซินเดออ้าย                                                         ให้ไปเล่าเลียบไฮ่ เขาพันป๋ะ
                ให้ไปเล่าเลียบนา                                                   เขาฟันปล่อย
                เลาะหว่างทุ่งอ้องม้อง                                              นาน้อยเจ้าเฮ็ดกิน
                คันแม่นพี่ขัดข้อง                                                     ทางใด๋บอกน้องแหน่
                คนงามเอ๋ย…”

(สำเร็จ คำโมง. มปป. อ้างอิงใน เอกสารหมายเลข 7 จากการสัมมนาเพลงพื้นบ้านอีสาน ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม, 2524)

                2.) หมอลำพื้น
                เป็นยุคที่มีการลำให้ความบันเทิงมากขึ้น จนถือเป็นต้นกำเนิดของการลำเพื่อการบันเทิงของหมอลำแบบอื่น ๆ ในยุคหลัง ๆ เมื่อพิจารณาจากรูปแบบการแสดงทำให้เห็นว่าลำพื้นเกิดจากธรรมเนียมการอ่านหนังสือผูกและธรรมเนียมการเทศน์ของพระ  หมอลำพื้นเป็นการลำแบบเล่าเรื่องหรือนิทาน หรือคำสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตัวอย่างลำพื้น ดังนี้

กลอนลำ เรื่องสังข์สินไซ (ตอนพระยากุศราชครองเมือง)
ประพันธ์โดย ราตรี ศรีวิไล
(วาทลำสินไซ-สลับลำพื้น)

(บทที่ 1)
ฮืมบัดนี้...  ข้าจักนบนอบน้อม    ถวายบาทนาโถ
องค์พุทโธธัมโม    และพระสังโฆพร้อม
กายวาจาใจน้อม   คุณครูผู้สอนสั่ง
ขอให้มาเลื่อมกั้ง   บังข้าบัดฮ่าลำ

(บทที่ 1)
ไหว้ทุกก้ำ      อ้อป่องของขลัง
คุณณะอมจังงัง     ให้เลื่อมงำนำยู้
ครูอยู่ในบทเรื่อง     โตแสดงครบคู่
ผองนักปราชญ์ผู้ฮู้    ให้ซูค้ำซ่อยกัน

(บทที่ 1)
บัดนี้บั้น    เปิดป่องฝักตูไข
ลำนิทานสินไซ    ให้ซัดเจนเห็นแจ้ง
การแสดงลำร้อง    ให้เห็นทางแจ้งจ่างป่าง พุ้นเย้อ.......
เปิดฝักตูไขป่องท้าง    ถางหม้องป่องสิลำ



(บทที่ 1)
บัดนี้จักกล่าวก้ำ   เมืองใหญ่เป็งจาล
ตามบทตอนนิทาน   กล่าวมาจาเว้า
ยังมีเหนือหัวเหง้า     ซื่อพระยากุศราช
องค์พระบาทท่อนไท้    ครองสร้างนั่งปรางค์

(บทที่ 1)
มเหสีเอกอ้าง    ซื่อว่าจันฑา
ส่วนน้องสาวพระราชา     ซื่อสุมณฑาน้อง
บ่มีแนวเคืองข้อง    หมองใจจักอย่าง
อยู่ท่างสุขอยู่สร้าง    ปรางค์กว้างข่วงนคร

(ลำพื้น)
จั่งความทุกข์ฮ้อน   บ่เอื้ออ่าวหนหา
ปวงสนมเสนา    ซื่นซมแซซ้อง
เมื่อนั้น เสียงกลองฆ้อง  มโหรีเสพแห่
เสียงลำร้อง สลับแคนแลนแตร่
แลนแตร่ตาลุแลนแลนแตร่แลนแตร่
เสียงกลองฆ้อง   ดังมามอง ๆๆๆ
มอง ๆๆๆมุ่งฮุ่ย
เสียงกลองฆ้อง   ดังมามุ่งฮุ่ย
ฟังเตาะเติ่นตุ้มกลองทุ้มกล่อมกัน   ตึ้มๆๆๆ ตึดตึ้ม ๆๆๆ
เสียงกลองฆ้อง   มโหรีเสพกล่อม
คอยถนอมต่อมตุ้ม    ซุมเซื้ออยู่เย็น

(บทที่ 1)
เว้นวรรคไว้                  ถ้าฟังใหม่กลอนสอง
ยักษ์กุมภัณฑ์หมายปอง   มิ่งสุมณฑาแก้ว
สิขอลาลงแล้ว               บทกลอนโจะก่อน
คอยเบิ่งตอนบัดหน้า        ซิหนากว้างกว่าหลัง
ขอพักยั้ง                      ไว้ก่อนบทตอน
กลอนนิทานสินไซ           ต่อไปยังกว้าง...


                3. หมอลำกลอน
                เป็นยุคใกล้เคียงกับหมอลำพื้น แต่ต่างกันตรงที่หมอลำมีการสร้างรูปแบบการแสดงที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น แต่ยังเป็นการลำกลอนที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ คือสนใจเรื่องสาระข้อคิด คติธรรม คำสอนทางศาสนาอยู่มาก ตลอดจนการประชันความสามารถ และประชันไหวพริบปฏิภาณ ควบคู่ไปกับการให้ความบันเทิง
ตัวอย่างกลอนลำทางสั้น เดินดงชมดอก ของผู้ชายลำ ต่อไปนี้
ชื่อกลอนลำ : เดินดงชมดอก ชาย
ชื่อผู้แต่ง :   ราตรี ศรีวิไล
ทำนอง : ลำทางสั้น

(บท 1)
พอคราวแล้ว ๆ สิเดินดงลัดไล่
เลาะเลียบไพรซิได้นับดอกไม้ ๆ  ใบต้นอยู่ปน

(บท 2)
เลาะเลียบต้นชมดอกดวนดก
มีทั้งบกแจมจิกจีกจีแจมจี้

(บท 3)
มีทั้งจำปีพร้อมซอมดอกจำปา
สีดาแกมจำปีหมี่มุยแกมมี้
มีมันต้นซมโดนดอกหล่น
กะโดนแกมดอกเป้า  กะเบาซ้อน ป่งซอน ๆ





(บท 4)
ดอกกะเบามันมาเกิดซ้อน ซอนหมู่ตูมตัง
ตามนั้นแหล่ว ตามสะพังนี้ละแม่นวังหนอง ๆ แบ่งบานตามก้าน
มีบานตามต้นปนกันถันถี่
มีปิลิดอกแห้งแมลงไม้ไต่ตอม

(บท 5)
ลมพัดพร้อมไกวกิ่งแกมกัน
กกโกแกมกกกุงก่ามกวมกุมเกี้ยว
เหลียวไปหน้าสาขาหลายส่ำ
เลาะไปนำเลียบจ้ายสายห้วยป่าดอน

(บทลง)
สีนานวลแคนซ่วนไว้ก่อนท่อนี้น่า

(ราตรี ศรีวิไล,  2518)



                4. หมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอน
                เป็นยุคที่หมอลำมีพัฒนาการแสดงหลากหลายมากขึ้น โดยยืดบนฐานเดิมคือการลำเป็นเรื่องแบบลำพื้นมาดัดแปลงใหม่ โดยแทนที่จะมีหมอลำคนเดียวแล้วสมมุติตัวเป็นตัวละครทุกตัว ก็ปรับเปลี่ยนให้มีหมอลำ ลำกันหลาย ๆ คนเพื่อให้ครบตัวละครในเรื่อง

ตัวอย่างจากกลอนลำเรื่องต่อกลอน : จากเรื่องท้าวธนูขรรค์
นางปีศาจกล่าว :

โอ้พี่เอย             น้องหากลุแต่ก้ำหนแห่งหิมพานต์
เพื่อว่า              ใจประสงค์หาคู่ครองเทียมซ้อน
จั่งใด                 สัญจรดั้นมาเถิงพระพี่ภายพี้
เพราะเพื่อ    คิดอยากได้ชายซ้อนจึ่งได้มา พี่เอ๋ย

ผีหลักเมืองกล่าว:
นางหาก             มีประสงค์ด้วยหาชายซ้อนบ่อน
น้องสิ                เอาคู่ซ้อนเทียมเจ้าผู้จั่งใด๋
พี่ก็                    บ่มีเมียซ้อนเทียมสองจักเทื่อ
เจ้าสิ                 บ่อยากได้ไปซ้อนกล่อมสอง แน่บ้อ

(อุดม บัวศรี, 2546)

                5. ลำผญา
                ลำประเภทนี้ไม่มีผู้ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ แต่หากพิจารณาตามลักษณะแล้วอาจกล่าวได้ว่าน่าจะมีความเก่าแก่ร่วมสมัยกับหมอลำพื้นและหมอลำกลอน ผญา คือ คำคม สุภาษิต หรือคำพูดที่เป็นปริศนาเป็นคำพูดที่คล้องจองกันมีจังหวะหนักเบา ผญาจึงเป็นการพูดที่ต้องใช้ไหวพริบ สติปัญญา พูดสั้นแต่กินใจความมาก
ตัวอย่างกลอนลำผญา ประเพณีลงข่วง

ชาย     ขอขอบคุณเด้อหล่าที่หายามาให้สูบ
ปูสาดฮูปดอกฟ้าซังมาโก้แท้หนอหล่าเอย
ความหมาย พี่ขอขอบคุณน้องมากที่เตรียมบุหรี่ไว้ให้อุส่าห์ปู่เสื่อรูปดอกฟ้าแสนสวยให้พี่นั่ง

หญิง    บ่เป็นหยังดอกอ้าย เห็นชายมากระอบอุ่น
ย่านแต่เพิ่นพุ้นบ่มาผ่ายกลายทาง
อ้ายมาหยังมื้อนี้มีลมอันได๋พัด
ช่วยขจัดความในใจน้องแน่นาอ้ายเอย
ความหมาย ไม่เป็นไรหรอกพี่ เมื่อพี่มาก็อบอุ่น น้องยิ่งหวั่นว่าพี่จะเดินผ่านไปบ้านอื่น

(ฉลอง พันธ์จันทร์2549)


                จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า หมอลำ เป็น ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสานด้านศิลปกรรมที่เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายของภูมิปัญญาไทย หมอลำได้มีมาแต่ยาวนาน กล่าวกันว่าหมอลำเป็นครูที่เก่งที่สุดคือ หมอลำสามารถถ่ายทอดความรู้ทางกลอนลำได้หลากหลายเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม ประเพณี ข่าวสารบ้านเมือง การเมืองการปกครอง ครอบครัว เป็นต้น ให้ชาวบ้านที่อ่านหนังสือไม่ได้ ได้รับรู้และเกิดสุนทรียภาพทางอารมณ์แก่ผู้ฟัง จึงทำให้หมอลำอยู่คู่กับชาวอีสานมาจนถึงปัจจุบัน



ที่มา :http://www.ratreesrivilai.com/index.php?mo=3&art=41948119

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น