บทที่ 1 บทนำ

1.1  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
                  หมอลำจัดว่าเป็นการแสดงทั้งศาสตร์และศิลป์ในขณะเดียวกันเพราะว่านอกจาก    หมอลำจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังให้ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ฟัง เช่น การให้ความรู้และการดำเนินชีวิตในสังคม ส่วนทางอ้อม คือ การใช้เป็นสื่อในการอบรม สั่งสอน โดยแทรกคำสอนในพระพุทธศาสนา ค่านิยม และกฎเกณฑ์ ในสังคมที่ควรปฏิบัติ  อนึ่ง  หมอลำเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ที่มีบทบาทด้านการให้ความรู้และความบันเทิงเป็นสื่อในการบันทึกพฤติกรรมของคนในสังคม  เป็นสื่อในการสืบทอดวัฒนธรรม  ประเพณีและความเชื่อต่าง ๆ จึงเห็นได้ว่าหมอลำเป็นศิลปะการแสดงที่ผูกพันกับชีวิตชาวอีสานได้สืบทอดมาหลายชั่วอายุจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
                  อย่างไรก็ตาม หมอลำ ถือว่าเป็นศิลปะการแสดงที่สะท้อนให้เห็นรากเหง้าของคน     ในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน โดยผ่านตัว บทที่มีผู้แสดงถ่ายทอดออกมาสู่สาธารณะอย่างเปิดเผย   ไม่เพียงแต่เป็นผู้บริโภคสื่อรับตัวบทจากผู้แสดงเท่านั้น   สิ่งสำคัญของหมอลำ  ก็คือ  ความอบอวลของบรรยากาศแห่งงานบุญหรือเทศกาล หมอลำจึงไม่ได้หมายถึง หมอลำที่มีหมอแคน คนลำ  หางเครื่อง ดนตรี ฉากไฟ แสง สี แต่หมายถึง การขับเคลื่อนบรรยากาศวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น บนพื้นที่แห่งความพึงพอใจและเพลิดเพลินเป็นรูปลักษณ์ของการแสดงที่เป็นชุมทางเรื่องราวของสังคมและมานุษยวิทยาอย่างสมบูรณ์  หมอลำเป็นวัฒนธรรมย่อย (Sub-Culture) ที่มีอำนาจทางการแสดงออกที่ทรงอิทธิพลต่อคนอีสานทุกยุคทุกสมัยจากอดีตถึงปัจจุบัน ฉะนั้น หมอลำจึงเป็นศิลปะการแสดงภาคประชาชนระดับรากหญ้าที่มีขนบแต่ไร้รูปแบบ  ที่สามารถปรับกระบวนท่า ของตัวตนได้ทุกลักษณะพื้นที่และเวลา
                  ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า หมอลำ เป็นศาสตร์แห่งการแสดงศิลปะพื้นบ้านที่มีคุณค่า และมีความสำคัญยิ่งต่อชาวอีสานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  เพราะให้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลินและความรู้
ควบคู่กันไป  คือ  สอดแทรกความรู้ ความคิด คติธรรม ความเชื่อ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ
ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความเฉลียวฉลาด  และมีส่วนช่วยส่งเสริมจริยธรรม รักษาบรรทัดฐานของสังคมช่วยอนุรักษ์วรรณกรรมและศิลปะพื้นบ้านแล้ว หมอลำยังเป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิดเห็นของประชาชน  เป็นภูมิปัญญาของชุมชนในสมัยที่การศึกษายังไม่เจริญเหมือนทุกวันนี้ ถือเป็นการศึกษานอกระบบที่เน้นความประพฤติ  สอนให้คนเป็นคนดี และในสมัยหนึ่ง หมอลำยังมีบทบาทในการช่วยเผยแผ่ความรู้ด้านการเมือง ชี้แนะให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้ความรู้ต่าง ๆ เช่น การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด การรับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ เป็นต้น  โดยเฉพาะในยุคที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หมอลำได้รับการยกย่องว่า เป็นปราชญ์ของสังคม เพราะเป็นผู้สืบทอดและถ่ายทอดภูมิปัญญา ตลอดจนวิถีชีวิตของคน  ในท้องถิ่นควบคู่กับวัด ทั้งนี้  เพราะผู้ที่จะเป็นหมอลำที่ดีได้นั้น

จะต้องเป็นผู้มีความรอบรู้หลายด้านและหลากหลาย เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ขนบธรรมเนียม  ประเพณี   บาปบุญคุณโทษ  ค่านิยมทางสังคม  ข้อธรรมะไปจนถึงนิทานชาดกและข่าวสารบ้านเมือง  อีกทั้งยังมีปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบนเวทีได้อย่างทันท่วงที
หมอลำจึงมีลักษณะเด่น คือ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเชิงสุนทรียภาพเหมือนศิลปะชั้นสูง มีความใกล้ชิดกับผู้ฟัง  และมีความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินผู้แสดงกับผู้ฟังผู้ชมหมอลำ
          ดังนั้น  ผู้จัดทำโครงงาน   จึงสนใจที่จะศึกษาประวัติผลงานและพัฒนาการของหมอลำที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตชาวอีสาน ตลอดจนการประยุกต์สอดแทรกหลักพุทธธรรมในชีวิตประจำวัน พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ สู่กลุ่มผู้ฟังจากอดีตถึงปัจจุบัน

1.2 วัตถุประสงค์ของโครงงาน
          1.2.1 เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของหมอลำ
          1.2.2 เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่การแสดงหมอลำที่ดี

1.3 ขอบเขตของการจัดทำโครงงาน
ศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของศิลปะการแสดงหมอลำ

1.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
          1.4.1 รู้เข้าใจศิลปะวัฒนธรรมการแสดงหมอลำ
          1.4.2 มีเอกสารเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมการแสดงหมอลำ
          1.4.3 เผยแพร่และร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหมอลำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น