1.ลำกลอน



หมอลำกลอน



   หมอลำกลอน เป็นการลำที่ใช้บทกลอนโต้ตอบกัน ระหว่างหมอลำชายและหมอลำหญิงในเรื่องต่างๆ บทกลอน ที่หมอลำใช้ลำเรียกว่า กลอนลำซึ่งมีลักษณะเป็นร้อยกรอง ที่มีเนื้อหาสาระหลายประเภท เช่น วิถีชีวิต นิทานพื้นบ้าน ธรรมชาติ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา คำสอนโบราณ ของชาวอีสาน คติธรรม ข้อคิดเตือนใจโต้ตอบกัน และ กลอนที่เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ

การแสดงหมอลำกลอน ประกอบด้วยหมอลำชาย และหมอลำหญิง ฝ่ายละ ๑ คน โดยแต่ละฝ่ายมีหมอแคน ของตน เนื้อหาสาระอยู่ที่บทกลอนที่ใช้ปฏิภาณไหวพริบ โต้ตอบกัน ผู้ที่จะเป็นหมอลำกลอนที่ดีได้นั้น จะต้องเป็นผู้มี ความรอบรู้หลายด้านและหลากหลาย ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณี บาปบุญคุณโทษ ค่านิยมสังคม ข้อธรรมะไปจนถึงนิทาน ชาดก และข่าวสารการบ้านการเมือง อีกทั้งต้องมีปฏิภาณ ไหวพริบในการโต้ตอบและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบนเวที ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังมีความสวยงามอ่อนช้อย ของท่ารำประกอบการลำที่หมอลำฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ได้สร้างสรรค์ขึ้น

   เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงหมอลำกลอน คือ แคน หมอแคนจะเป่าแคนประกอบการลำกลอน ซึ่งเป็น เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียวที่ใช้ประกอบการแสดงหมอลำ กลอนของชาวอีสาน การเลือกใช้แคนประกอบการแสดงนั้น จะขึ้นอยู่กับหมอลำ เช่น หมอแคนของหมอลำฝ่ายชาย ใช้แคนเจ็ดหรือแคนแปด ส่วนหมอแคนของหมอลำฝ่ายหญิง ใช้แคนที่มีเสียงใหญ่คือแคนเก้า

    นอกจากหมอลำกลอนจะเป็นศิลปะที่ให้ความบันเทิง สนุกสนานเพลิดเพลิน สอดแทรกความรู้ ความคิด คติธรรม ความเชื่อ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ทำให้คนฟังเกิดความเฉลียวฉลาด และมีส่วนช่วยส่งเสริม จริยธรรมคุณธรรม รักษาบรรทัดฐานของสังคม ช่วยอนุรักษ์ วรรณกรรมและศิลปะพื้นบ้านแล้ว ยังเป็นสื่อในการ ถ่ายทอดความคิดเห็นของประชาชน เป็นภูมิปัญญาของ ชุมชนในสมัยที่การศึกษายังไม่เจริญเช่นทุกวันนี้ ถือเป็น การศึกษานอกระบบที่เน้นความประพฤติ สอนให้คนเป็นคนดี และในสมัยหนึ่งหมอลำยังช่วยเผยแพร่ความรู้ด้าน ลัทธิการเมือง ชี้แนะให้ประชาชนเข้าใจในการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย และให้ความรู้ต่างๆ เช่น การวางแผน ครอบครัว การคุมกำเนิด การกินที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น
ที่มา:http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/240-rural-song/165-----m-s


ตัวอย่าง หมอลำกลอน โดยศิลปิน ฉลิมพล มาลาคำ ชุด ลำกลอนเขมร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น